วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2551

ตำนานไก่ชน


ตำนานไก่ชนพระนเรศวร ไก่ชนพระนเรศวร หรือไก่เจ้าเลี้ยง เป็นไก่อู พันธุ์เหลืองหางขาวเป็นที่รู้จักเรียกขานกันว่า “ไก่เหลืองหางขาว” จัดเป็นยอดไก่ มีลักษณะสีสร้อยเหลือง แข้งขาวอมเหลือง ปากขาวอมเหลืองหางสีขาวยาวเหมือนฟ่อนข้าว ยืนผงาดอกเชิดท้ายลาด หน้าแหลมยาวเหมือนหน้านกยูง ปีกใหญ่ยาวมีขนแซมทั้งสองข้าง อกใหญ่ ตัวยาว หางรัดชิด แข้งเล็กนิ้วยาวเรียว เดือยงอน เวลาขันเสียงใหญ่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชสมภพ ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก ได้ทรงโปรดปรานการตีไก่มาแต่เยาว์วัย ทรงใฝ่หาความรู้ และเสาะหาไก่มาเลี้ยงไว้ ครั้นเสด็จไปประทับที่พม่า ก็ทรงนำไก่ชนไปด้วย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2110 สมเด็จพระนเรศวร ทรงชนไก่กับพระมหาอุปราชา (มังกะยอชวา) ผลปรากฏว่าไก่ชนของพระมหาธรรมราชากลับเป็นฝ่ายแพ้ไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวร ทำให้พระมหาอุปราชาทรงพิโรธมาก เกิดโมหะตรัสเสียดสีเหยียดหยามสมเด็จพระนเรศวร ว่า “ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงนะ” สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสโต้ตอบเป็นเชิงท้าอยู่ในทีว่า “ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่ตีพนันชนเอาเดิมพันเลย ถึงชนเอาบ้านเอาเมืองกันเมื่อไรก็ได้” เชื่อกันว่าไก่ที่พระนเรศวรทรงนำไปชนกับพม่านั้น นำไปจาก “บ้านกร่าง” เดิมเรียกว่า “บ้านหัวเท” ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองพิษณุโลกไปทางตะวันตก ประมาณ 9 กิโลเมตร ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษไทยโบราณ ผู้คนในหมู่บ้านยังคงสืบทอดขนบธรรมเนียมมาตั้งแต่บรรพบุรุษไม่ต่ำกว่า 200 ปีมาแล้ว เมื่อมีงานเทศกาลก็จะนัดชนไก่กันเป็นประจำ บ้านกร่างเป็นหมู่บ้านที่เลี้ยงไก่ชนมากอีกแห่งหนึ่ง เป็นไก่เก่ง ชนชนะเสมอ มีชื่อเสียงมาก และเป็นที่ต้องการของคนต่างถิ่น ไก่ที่ชาวบ้านบ้านกร่างเลี้ยงนั้น เป็นไก่อู ตัวใหญ่ สีเหลืองหางขาว ชาวบ้านพูดจนติดปากว่า “ไก่เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง” การที่เรียกว่า “ไก่เจ้าเลี้ยง” น่าจะมีความหมายจากการที่สมเด็จพระนเรศวร ทรงเลี้ยงไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาวนั่นเอง






1 ความคิดเห็น:

krumew กล่าวว่า...

น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่ทุกวันนี้เอาไก่ชนไปเพื่อการพนันซะมากกว่า